วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ความสำคัญของโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล
       กลุ่มโรคนี้เพิ่งได้รับความสนใจและได้ศึกษากันไม่นานมานี้ เนื่องจากกลุ่มโรคนี้มีผลเสียหายหลายประการดังนี้
         1. ผู้ป่วยมีอัตราตาย และทุพพลภาพมากขึ้น โดยทั่วไปกลุ่มโรคนี้มีอัตราตายประมาณร้อยละ 3 ถึง 7.5 ประเทศไทยมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลประมาณปีละหนึ่งล้านคน จะมีผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลปีละหนึ่งแสนคน (ร้อยละ 10) และมีผู้ที่ถึงแก่กรรมด้วยกลุ่มโรคนี้ปีละสามพันคนถึงเจ็ดพันห้าร้อยคน
         นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ตายในโรงพยาบาลพบว่าร้อยละ 30 มีการติดเชื้อที่รุนแรง เช่น ปอดอักเสบ, ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และการติดเชื้อในเลือด
       นอกจากกลุ่มโรคนี้จะทำให้ตายแล้ว ยังมีการศึกษาที่ยืนยันว่าโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลเป็นสาเหตุร่วม (contributary cause) ที่ทำให้ผู้ป่วยตาย และที่สำคัญมากกว่านี้ก็คือ กลุ่มโรคนี้เป็นสาเหตุการตายของผู้ป่วยที่มีพยากรณ์โรคดีตอนที่เริ่มเข้ามาอยู่โรงพยาบาล แต่สำหรับ ผู้ป่วยที่มีพยากรณ์โรคเลวหรือเป็นโรคใกล้ตาย (terminal illness) แล้ว กลุ่มโรคนี้ไม่ทำให้อัตราตายเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการป้องกันเพื่อลดอัตราโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล จึงเป็นการลดอัตราตายได้โดยตรง
         2. ผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาลนานขึ้น ได้มีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่มีโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลจะต้องอยู่โรงพยาบาลนานขึ้นเฉลี่ย 4 วัน กลุ่มผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อที่แผลผ่าตัดต้องอยู่โรงพยาบาลนานขึ้นอีกเกิน 10 วัน ทำให้มีผลตามมาดังต่อไปนี้
        2.1 โรงพยาบาลรับผู้ป่วยได้น้อยลง ผู้ป่วยต้องคอยเตียงนานขึ้น บริการที่ไม่เพียงพออยู่แล้วจะยิ่งเลวร้ายลงอีก

           2.2 โรงพยาบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นในการรักษากลุ่มโรคนี้ ยกตัวอย่าง โรงพยาบาลศิริราชรับผู้ป่วยในปีละประมาณ 50,000 ราย ถ้ามีอัตราการติดเชื้อในโรงพยาบาลร้อยละ 9 จะมีผู้ป่วยติดเชื้อนี้ปีละ 4,500 ราย จะเสียเตียงสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ 4,500 X 4 = 18,000 เตียง-วัน ถ้าค่าใช้จ่ายแต่ละเตียงต่อวันไม่รวมค่าตรวจ,รักษา = 700 บาท ค่าตรวจรักษาเฉลี่ยรายละ 300 บาทต่อวัน รวมค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น = 1,000 บาทต่อเตียงต่อวัน จะสิ้นเปลืองเงินปีละ 18 ล้านบาทและคาดคะเนว่าทั้งประเทศจะสิ้นเปลืองเงินสำหรับรักษากลุ่มโรคนี้ = 1,000,000 X 9/10 X 4 X 1,000 = 360 ล้านบาทต่อปี ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการศึกษาพบว่า โรคติดเชื้อในโรงพยาบาลทำให้เกิดการสูญเสียถึงปีละ 2 พันล้านดอลล่าร์ (ห้าหมื่นสี่พันล้านบาท)
            2.3 ผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้นจากโรคเดิม
           2.4 ผู้ป่วยต้องหยุดงานนานขึ้น
           2.5 การสูญเสียอย่างอื่น ๆ ที่ประเมินได้ยาก เช่น ญาติต้องมาเยี่ยมซึ่งต้องสิ้นค่าใช้จ่าย, ค่าเบี้ยประกันชีวิตเพิ่มขึ้น ฯลฯ
3. บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย อาจจะได้รับเชื้อจากผู้ป่วย
4. มีการแพร่เชื้อที่ดื้อยาในโรงพยาบาล โรคติดเชื้อในโรงพยาบาลโดยมากเกิดจากเชื้อที่ดื้อต่อยาต้านจุลชีพ และผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นแหล่งสำคัญของเชื้อที่ดื้อยาที่จะแพร่สู่ผู้ป่วยอื่น ทำให้การรักษายากขึ้น มีอัตราตายสูง
5. มีการแพร่เชื้อเข้าสู่ชุมชน ถ้าผู้ป่วยนั้นยังมีการติดเชื้ออยู่ขณะกลับบ้าน หรือเริ่มมีอาการของโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลหลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว ก็อาจจะเป็นผู้แพร่เชื้อไปสู่บุคคลใกล้ชิดได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น