วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2559

หลักการและองค์ประกอบของการดำเนินงานอาชีวอนามัยในโรงพยาบาล
           องค์การ International Commission on Occupational Health (ICOH) และ International Social SecurityAssociation (ISSA) ได้ให้ข้อเสนอแนะสำหรับผู้บริหาร และผู้รับผิดชอบงานอาชีวอนามัยในโรงพยาบาล เพื่อการดำเนินงานโดยมีหลักการดังนี้
      • การป้องกันความเสี่ยงจากการทำงานควรมีการบูรณาการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการบริหาร และระบบการควบคุมคุณภาพต่างๆ (QA หรือ HA) โดยเฉพาะการให้บริการและการประเมินคุณภาพการให้บริการทางสุขภาพ
     • ควรมีการจัดบริการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้กับบุคลากรทุกระดับ
     • ควรมีการประเมินความเสี่ยงในการทำงานแก่บุคลากรในโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอในทุกด้าน ทั้งปัจจัยเสี่ยงด้านกายภาพ เคมี ชีวภาพ ปัจจัยเสี่ยงด้านท่าทางการทำงาน การบาดเจ็บจากการทำงาน และปัจจัยทางจิตวิทยาสังคมในการทำงาน
        • ควรกำหนดให้มีโครงการเพื่อการจัดการป้องกันความเสี่ยงจากการทำงานอย่างเป็นระบบ และมีการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็น โดยการมีส่วนร่วมของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในการวางแผน และปฏิบัติตามโครงการที่กำหนด
        • บุคลากรผู้ปฏิบัติงานทุกคนควรได้รับข้อมูลข่าวสาร และการฝึกอบรมที่จำเป็นด้านสุขอนามัย และการป้องกันความเสี่ยงจากการปฏิบัติงาน
        • มีการนำมาตรการป้องกันความเสี่ยงมาปฏิบัติ รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่จำเป็นแก่บุคลากร
       • มีการบูรณาการให้การป้องกันการติดเชื้อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านสุขอนามัยขององค์กร
       • มีการจัดทำและนำโครงการให้ภูมิคุ้มกันที่จำเป็นแก่บุคลากรไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งการเข้าถึงบริการเกี่ยวกับการให้คำแนะนำทางการแพทย์ การให้ภูมิคุ้มกัน และการประเมินผลการป้องกันหลังการให้ภูมิคุ้มกันแก่บุคลากรโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
มีการทบทวนมาตรการป้องกันความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับปรุงมาตรการป้องกันให้ดียิ่งขึ้นในสถาบันอาชีวอนามัยและความปลอดภัยแห่งชาติ


ประเทศสหรัฐอเมริกา (National Institute for OccupationalSafety and Health: NIOSH) ได้เสนอแนะว่าโครงการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยสำหรับผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่มีประสิทธิผลนั้น ควรประกอบไปด้วยการให้บริการเกี่ยวกับด้านต่างๆ ต่อไปนี้
การตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงานรวมทั้งการจัดทำประวัติการตรวจสุขภาพ
ที่ครบถ้วน
การตรวจสุขภาพเป็นระยะ
การให้ความรู้ด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน
การให้ภูมิคุ้มกันโรคที่จำเป็น
การให้บริการดูแลกรณีเกิดการบาดเจ็บ/เจ็บป่วยในการทำงาน
การให้คำแนะนำปรึกษาด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน
การป้องกันควบคุมสิ่งคุกคาม และเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมในการทำงาน
การจัดทำระบบข้อมูลด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน
ประสานการวางแผนงานร่วมกับแผนกต่างๆ และการให้บริการทางสุขภาพแก่บุคลากรในโรงพยาบาล
บทบาทหน้าที่ของบุคลากรในโรงพยาบาล
การพัฒนาโครงการด้านการดูแลสุขภาพบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลในประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มตั้งแต่ปี 1958 โดยสมาคมแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Medical Association) ร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลแห่งสหรัฐอเมริกา (American Hospital Association) ในการออกข้อตกลงร่วมกันที่จะสนับสนุนโครงการด้านการดูแลสุขภาพบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล โดยมีนโยบายพื้นฐานด้านการดำเนินงานอาชีวอนามัยในโรงพยาบาลว่า
โรงพยาบาลควรเป็นตัวอย่างแก่สาธารณชนในการที่จะดำเนินงานในการให้สุขศึกษา การป้องกันโรคจากการทำงานและส่งเสริมให้มีความปลอดภัยในการทำงานอย่างไรก็ตามเรื่องของสุขภาพของบุคลากรอาจไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยบางประการได้แก่
การที่โรงพยาบาลถูกมองว่าเป็นสถานที่ซึ่งมีบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความสามารถในการดูแลตนเองเป็นอย่างดีโดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภายนอก
ลักษณะงานของผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการ การได้คำแนะนำต่างๆ จากแพทย์ในโรงพยาบาลทำให้ผู้ปฏิบัติงานละเลยการใช้บริการทางอาชีวอนามัย
โรงพยาบาลเป็นสถานที่ซึ่งเน้นไปที่การรักษาโรคมากกว่าการธำรงรักษาไว้ซึ่งสุขภาพ
จากปัจจัยดังกล่าวสถาบันอาชีวอนามัยและความปลอดภัยแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (National Institute  for Occupational Safety and Health: NIOSH) จึงได้จัดทำเกณฑ์สำหรับการดำเนินงานอาชีวอนามัยในโรงพยาบาลนับแต่นั้นมา โดยกำหนดบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของคณะกรรมการด้านสุขภาพและความปลอดภัยดังนี้
ตรวจประเมินสถานที่ปฏิบัติงานเพื่อสืบค้นความเสี่ยงต่อสุขภาพ และความปลอดภัยในการทำงานอย่างสม่ำเสมอ
วิเคราะห์ทบทวนข้อมูลการบาดเจ็บ/เจ็บป่วยที่เกิดจากการปฏิบัติงาน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอเพื่อปรับปรุงมาตรการการป้องกัน
จัดเตรียมข้อมูลสำหรับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อใช้ในการสืบค้นความเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน
จัดการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน
ทำการวิเคราะห์ทบทวนมาตรการด้านสุขภาพความปลอดภัย เมื่อมีการขยายกิจการโดยมีการต่อเติมซ่อมแซมสถานที่ทำงาน หรือปรับปรุงกระบวนการทำงานใหม่
ทำการสอบสวนอุบัติเหตุจากการทำงาน
จัดทำโครงการเพื่อสร้างแรงจูงใจผู้ปฏิบัติงาน ให้มีความตระหนักและมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน/กิจกรรม



                                     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น