วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2559

สาเหตุชักนำ (Predisposing factor)
พิจารณาง่ายๆ ตามหลักระบาดวิทยาคือ
1. ตัวผู้ป่วย
ผู้ป่วยที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันลดลง ด้วยสาเหตุต่างๆ กันดังนี้
ก. จากโรคของผู้ป่วยเอง เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง, aplastic anemia, SLE ฯลฯ
ข. จากความเครียดจากโรค จากการผ่าตัด ฯลฯ
ค. จากผลของการรักษา เช่น การรักษาด้วย immunosuppressive drug, รังสีรักษา ฯลฯ
ง. มีสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย เช่น ใส่ prosthesis, catheter ต่างๆ
เนื่องจากผู้ป่วยมีภูมิต้านทานลดลง การติดเชื้อย่อมเกิดขึ้นง่าย แม้กระทั่งเชื้อที่เป็นเชื้อประจำถิ่น (normal flora) ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อได้
2. เชื้อ
ถ้าเป็นเชื้อที่มี virulence สูงจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนี้แล้วเชื้อจำนวนมากที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล เป็นเชื้อที่ดื้อต่อยาต้านจุลชีพหลายๆ ขนาน
3. สิ่งแวดล้อม
3.1 สิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต ได้แก่
ก. ผู้ป่วยอื่นๆ ที่อยูในหอผู้ป่วยเดียวกัน ถ้ามีแผล, หนอง, โรคผิวหนัง, คาสายสวนปัสสาวะ, มีท่อระบายต่างๆ ก็จะเป็นแหล่งของเชื้อโรคที่จะแพร่สู่ผู้ป่วยอื่นๆ
ข. บุคลากรทางการแพทย์ ถ้าเป็น carrier ของโรค, ถ้าละเลยใน antiseptic และ aseptic technique หรือกำลังเป็นโรคติดเชื้อระยะแพร่เชื้ออยู่ จะเป็นสื่อที่สำคัญในการแพร่เชื้อสู่ผู้ป่วยที่รับการดูแลรักษา
ค. ผู้มาเยี่ยม อาจนำโรคมาให้ผู้ป่วย จึงควรเข้มงวดเกี่ยวกับผู้มาเยี่ยมด้วย เช่น ไม่ให้ผู้ที่กำลังแพร่โรคได้เข้าเยี่ยมผู้ป่วย เป็นต้น นอกจากนี้ ถ้าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันตํ่า ผู้มาเยี่ยมจะต้องปฏิบัติตนตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้อย่างเคร่งครัด
3.2 สิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต ได้แก่หอผู้ป่วย, ห้องผ่าตัด และส่วนอื่นๆ ของโรงพยาบาล ถ้าออกแบบไม่ดี จะทำให้สกปรกและมีเชื้อโรคปะปนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหออภิบาลที่มีการใช้เครื่องมือช่วยชีวิตมาก, ผู้ป่วยที่เข้ามาอยู่ในโรงพยาบาลไม่นาน จะมีเชื้อกรัมลบทรงแท่ง ติดตามอวัยวะต่างๆ (colonization) และเชื้อพวกนี้มักจะเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล แต่ได้มีการศึกษาพบว่าแม้ว่าจำนวนของแบคทีเรียในสิ่งแวดล้อมจะมีมาก, อัตราของโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลก็ไม่ได้สูงตาม ดังนั้นการสำรวจเชื้อโรคในสิ่งแวดล้อมในหอผู้ป่วยจึงไม่คุ้มค่า และควรจะกระทำเฉพาะในห้องผ่าตัด, ห้องแยกผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันตํ่าเท่านั้น นอกจากนี้การลดจำนวนแบคทีเรียในสิ่งแวดล้อมก็จะไม่ช่วยลดอัตราการติดเชื้อในโรงพยาบาล ทั้งนี้เนื่องจากตัวแปรที่สำคัญคือ ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย และเชื้อที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่เป็นเชื้อที่อยู่ในตัวผู้ป่วยดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
โดยสรุป โรคติดเชื้อในโรงพยาบาลพบมากในกรณีต่อไปนี้
1. ผู้ป่วยสูงอายุ
2. ผู้ป่วยที่มีโรคเดิมอยู่ ซึ่งทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดลง เช่น ภาวะขาดอาหาร หรือได้รับการรักษาที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง
3. มีการผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดที่กินเวลานาน, มีการใส่ prosthesis, การผ่าตัดบริเวณที่มีแบคทีเรียอยู่มาก เช่น ผ่าฝี, ผ่าลำไส้ใหญ่เป็นต้น
4. ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาลนาน
5. มีการใช้เครื่องมือช่วยชีวิต, มีการใส่ท่อเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย
6. ผู้ป่วยอุบัติเหตุ, นํ้าร้อนลวก, ไฟไหม้
7. มีการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างพรํ่าเพรื่อ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของ normal flora ทำให้เชื้อที่มี virulence สูง, เชื้อวัณโรค, เชื้อรา เพิ่มจำนวนและทำให้เกิดโรคได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น